
โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๕ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โดยมีพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นเถระผู้ใหญ่มีชื่อว่า พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราชสังฆนายกตรีปิฎก คณาลังการ ศีลมาจารย์วินัยสุนทร ยติคณิศรบวรสังฆาราม คามวาสี เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงมา หลังจากที่ท่านได้ก่อตั้งโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ ๑ ปี ท่านได้มาตรวจเยี่ยมวัดตานีนรสโมสร (วัดกลาง) สมัยนั้นมีชื่อว่า วัดบางน้ำจืดท่านได้เริ่มก่อตั้งโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานีขึ้น โดยใช้ศาลาท่าน้ำเป็นสถานที่เรียน (ปัจจุบัน คือ ที่ตั้งของสถานีดับเพลิง)
นักเรียนได้อาศัยเรียนอยู่ที่ศาลาท่าน้ำได้เป็นระยะเวลาประมาณครึ่งปี จึงย้ายมาเปิดสอนที่ริมแม่น้ำสามัคคี ติดกับบ้านสะบารัง โดยใช้พลับพลารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์เคยเสด็จฯ มาตั้งกล้องดูดาวในสนามศักดิ์เสนีโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี (แท่นดูดาว ขนาดกว้างยาว ๒ เมตร สูง ๒ เมตร ปัจจุบันฝังในสนามหมดแล้ว) ชื่อเรือนราชประสิทธิ์ เป็นที่เรียน และได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า โรงเรียนปัตตานี “เบญจมราชูทิศ” เพื่อเป็นบรมราชานุสรณ์แด่พระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระราชบิดา สมัยนั้นมีพระยาเดชานุชิตหรือพระยาศักดิ์เสนี เป็นสมุหเทศาภิบาล มณฑลปัตตานี เปิดสอนแบบสหศึกษา มีนายโต๊ะ เป็นครูใหญ่ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๕๕ เป็นต้นมา
ต่อมาทางมณฑลปัตตานีได้มีหนังสือราชการแจ้งไปยังกระทรวงธรรมการให้ทราบว่า “บรรดาข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนในมณฑลปัตตานี ได้ร่วมใจกันบริจาคทรัพย์และสิ่งของ รวมเงินบริจาคทั้งสิ้น ๑๕,๓๓๐ บาท ๒๓ สตางค์ เพื่อจัดสร้างโรงเรียนประจำมณฑลขึ้นโดยสร้างอาคารเรียนเป็นเรือนไม้ยกพื้นชั้นเดียวหนึ่งหลัง ตัวเรือนกว้าง ๔ วา ๒ ศอก ยาว ๒๒ วา ๒ ศอก ทาสีทั้งภายในและภายนอก แบ่งเป็น ๖ ห้องเรียน ห้องพักครู ๒ ห้องและห้องประชุม ๑ ห้อง รวมเงินค่าก่อสร้างตัวเรือนและจัดทำโต๊ะเก้าอี้ ทั้งสิ้น ๑๕,๓๓๐ บาทถ้วน”
เมื่อก่อสร้างอาคารเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้วทางมณฑลปัตตานีได้จัดให้มีพิธีเปิดโรงเรียนเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๗ โดยมหาอำมาตย์ตรี พระยาเดชานุชิตสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี ได้เชิญเสด็จมหาอำมาตย์โทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศรวร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธี ครั้นพุทธศักราช ๒๔๘๒ โรงเรียนปัตตานี “เบญจมราชูทิศ” ได้ย้ายมาเรียนที่อาคารเรียน ๑ (ปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว) ด้วยเหตุจำนวนนักเรียนมากขึ้น และเป็นการขยายบริเวณโรงเรียนให้กว้างขวางพอกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นด้วย โรงเรียนปัตตานี “เบญจมราชูทิศ” ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เหมาะสมเป็น “โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี”

ปัจจุบัน (ปีการศึกษา 2559) โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งสิ้น 2,397 คน จัดเป็น ๖๖ ห้องเรียน (๑๒ – ๑๓ – ๑๓ – ๘ – ๘ – ๘) ข้าราชการครู ๑๑๗ คน ครูอัตราจ้างชาวต่างชาติ ๓ คน พนักงานบริการ ๑๐ คน พนักงานขับรถยนต์ ๒ คน ลูกจ้างชั่วคราว ๔๖ คน
สถานที่ตั้งโรงเรียน
สถานที่ตั้งโรงเรียน ตั้งอยู่เลขที่ ๑ ถนนสะบารัง ตำบลสะบารัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี รหัสไปรษณีย์ ๙๔๐๐๐ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ – ๗๓๓๓ – ๖๕๗๗ อีเมล : benjamapattanischool@gmail.com เว็บไซต์ : www.benjamapn.ac.th มีเนื้อที่ ๓๓ ไร่ ๒ งาน ๕๒ ตารางวา แบ่งเป็น ๒ แปลง ดังนี้
เนื้อที่แปลงที่ ๑
ตั้งอยู่บนฝั่งตรงกันข้ามศาลากลางจังหวัดปัตตานี มีเนื้อที่ ๒๓ ไร่ ๑ งาน ๘ ตารางวา เป็นเนื้อที่ส่วนใหญ่ ประกอบด้วยสนามศักดิ์เสนี อาคารเรียน และสถานที่ทำงาน ดังนี้
อาคารเรียน
อาคารเรียน ๔ อยู่ใกล้รั้วโรงเรียน เป็นอาคาร ๓ ชั้น (๓๑๘ พ) สร้างเมื่อ พุทธศักราช ๒๕๑๘ ปรับปรุงซ่อมแซมพุทธศักราช ๒๕๔๐ อยู่ในความรับผิดชอบและดูแลของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (ธุรกิจ)
ชั้นที่ ๑ มีห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปศึกษา (นาฏศิลป์) และห้องเรียน จำนวน ๔ ห้อง
ชั้นที่ ๒ มีห้องพักครูที่สอนวิชาธุรกิจ ห้องสอนวิชาดนตรี และห้องเรียน จำนวน ๔ ห้อง
ชั้นที่ ๓ มีห้องพิมพ์ดีด ห้องเขียนแบบ และห้องเรียน จำนวน ๔ ห้อง

อาคารเรียน ๕ ขนานกับสนามบาสเกตบอล เป็นอาคาร ๔ ชั้น (แบบ cs ๔๒๔) สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๓ อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
ชั้นที่ ๑ มีห้องคหกรรม (ผ้า) ห้องโสตทัศนศึกษา ห้องแนะแนว ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
ชั้นที่ ๒ มีห้องสมุดและห้องเรียน จำนวน ๕ ห้อง
ชั้นที่ ๓ มีห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และห้องทดลองวิทยาศาสตร์ จำนวน ๕ ห้อง
ชั้นที่ ๔ มีห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และห้องทดลองวิทยาศาสตร์ จำนวน ๒ ห้อง และห้องเรียนจำนวน ๕ ห้อง

อาคารเรียน ๖ อยู่ติดรั้วด้านถนนสะบารัง เป็นอาคาร ๓ ชั้น (อาคาร ๓๑๖ ล) สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๒ ชั้น ๒ และชั้น ๓ อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ประกอบด้วย
ชั้นที่ ๑ สำนักงานผู้อำนวยการ สำนักงานฝ่ายบริหารงบประมาณ สำนักงานฝ่ายบริหารบุคคล สำนักงานฝ่ายวิชาการ ห้องพักครูคอมพิวเตอร์ และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ จำนวน ๑ ห้อง
ชั้นที่ ๒ ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างประเทศ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ จำนวน ๓ ห้อง และห้องเรียนจำนวน ๒ ห้อง
ชั้นที่ ๓ ห้องพุทธศาสนา ห้องศูนย์ภาษาอาเซียน และห้องเรียนจำนวน ๔ ห้อง


อาคารเรียน ๗ (อาคาร “เฉลิมยุพราช”) เป็นอาคารอเนกประสงค์ ๕ ชั้น ได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน ๔๖,๕๐๐,๐๐๐ บาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒


อาคารเรียน ๘

อาคารประกอบ
อาคารฝึกงานไม้ ติดกับอาคารโรงฝึกงานด้านทิศเหนือ
อาคารคหกรรม ตั้งติดกับอาคารฝึกงานไม้ด้านทิศเหนือ
อาคารโรงฝึกงาน อยู่ติดรั้วโรงเรียนด้านทิศตะวันออก เป็นอาคาร ๒ ชั้น (แบบ ฝ๒๐๔) สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๓ ประกอบด้วย
ชั้นที่ ๑ ช่างโลหะ ช่างยนต์ และห้องอัดสำเนาเอกสาร
ชั้นที่ ๒ ช่างไฟฟ้า และห้องพักครู กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี
อาคารอเนกประสงค์ (อาคาร ๙๗ ปี) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดปัตตานี จำนวน ๑๓ ล้านบาท เป็นอาคาร ๒ ชั้น ชั้นล่างแบ่งเป็นห้องสำนักงานฝ่ายบริหารทั่วไป ห้องพยาบาล ห้องเรียนสุขศึกษา ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ห้องสารสนเทศ ห้องประชาสัมพันธ์ ห้องประชุมเล็ก ห้องเซิร์ฟเวอร์ ห้องสุขานักเรียนชาย – หญิง ชั้นบนโรงยิมส์
อาคารละหมาด ติดกับอาคารโรงฝึกงาน ใช้เป็นสถานที่ละหมาดของนักเรียน สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๖ ปรับปรุงซ่อมแซม พุทธศักราช ๒๕๔๒
ห้องสุขาชาย อยู่ริมรั้วอาคารเรียน ๕ กับอาคารละหมาด มี ๓ หลัง ๑๘ ที่นั่ง
ห้องสุขาหญิง อยู่ริมรั้วติดกับอาคารคหกรรม มี ๒ หลัง ๒๔ ที่นั่ง
อาคารหอประชุม (แบบ ๑๐๐/๒๙) สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐ ได้รับการซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ เป็นเงิน ๔,๓๐๐,๐๐๐ บาท ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สมาคมนักเรียนเก่าเบญจมราชูทิศ ปัตตานี ผู้ปกครอง นักเรียนและคณะครู
อาคารเก๋งจีน ๘ เหลี่ยม ๑ หลัง สร้างพุทธศักราช ๒๕๓๔ (ได้รับงบประมาณจากมูลนิธิเทพปูชนียสถาน เป็นเงิน ๖,๕๐๐,๐๐๐ บาท)
ศาลา ๖ เหลี่ยม ๑ หลัง สร้างพุทธศักราช ๒๕๔๗ (ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท)
เนื้อที่แปลงที่ ๒
ตั้งอยู่ริมคลองสามัคคี มีเนื้อที่ ๗ ไร่ ๖๑ ๓/๑๐ ตารางวา ประกอบด้วย
- ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”
- บ้านพักครู ๑๓ หลัง
- บ้านพักภารโรง ๙ หลัง
- อาคารเกษตรกรรม (แบบ ฝ๑๐๑) สร้างพุทธศักราช ๒๕๒๓ ซ่อมแซมปรับปรุง พุทธศักราช ๒๕๓๖
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของโรงเรียน
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของโรงเรียน คือ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับยืนบนแท่นหน้าอาคารเรียน ๕ และศาลหลักเมือง ซึ่งมีบริเวณพื้นที่เชื่อมต่อกับโรงเรียนด้านทิศตะวันออก
คำขวัญโรงเรียน
“สะอาด สามัคคี เรียนดี มีวินัย”
สัญลักษณ์โรงเรียน
“พระเกี้ยว”
สีประจำโรงเรียน
“เขียว – ขาว”